AV Comm Thailand

 

 

สื่อโสตทัศน์ที่ดี

 

 
 
 


            เมื่อมั่นใจว่าผู้ที่เคยชักชวนให้ผมสร้างเวบไซต์ AV Comm ได้บ่ายเบี่ยงที่จะส่งบทความให้ ทางออกที่ดีคือผมต้องเขียนบทความเองไปพลางๆ ก่อน จนกว่าจะมีผู้มีจิตอาสามาช่วย ทั้งๆ ที่ผมมีประสบการณ์ด้านสื่อน้อยมาก
            เมื่อมาคิดว่าจะเขียนเรื่องอะไรดี ก็ต้องถามตัวเองว่า “เราใช้โสตทัศน์เพื่ออะไร” จากนั้นผมก็ทำรายการออกมายาวเหยียด บางหัวข้อเมื่อนำมาพิจารณาแล้ว เห็นว่าซ้ำกัน เช่น เร้าใจ สนุก อินเตอร์แรคทีพ ฯลฯ แต่เมื่อนำมารวมกันเป็นหัวข้อเดียวกลับเหลือเพียง “เพื่อเพิ่มความน่าสนใจ” เลยขาดความเร้าใจไปมาก และต่อไปนี้ คือประโยชน์ของโสตทัศน์

    1.เพิ่มความน่าสนใจ

    2.เข้าใจถูกต้องดีขึ้น

    3.ใช้เวลาสอนน้อยลง

    4.จดจำได้นานขึ้น

            ผมไม่ทราบว่ามีใครเห็นว่า โสตทัศน์มีประโยชน์มากกว่าที่ผมเสนอมา 4 เรื่องนี้ ถ้ามีก็ขอให้ส่งมาร่วมกันเผยแพร่บ้างนะครับ เพราะกว่าจะจำแนกได้ 4 ข้อนี้ ผมต้องใช้เวลาว่างเขียนถึง 2-3 อาทิตย์
            ความจริงแล้วหลังจากที่ผมได้จำแนกประโยชน์ของโสตทัศน์แล้ว ผมก็เข้าไปค้นหาทางอินเตอร์เน็ตแล้วก็พบบทความ ซึ่งเขียนโดยสุภาพสตรีท่านหนึ่ง ที่เขียนคล้ายๆกันกับของผม เพียงแต่เธอใช้ศัพท์ที่เป็นวิชาการดีกว่า แต่น่าเสียดายที่ผมกลับไปค้นใหม่แล้วหาไม่พบ
            ผมเคยนำคำถามไปถามอาจารย์ที่เรียนจบวิชาโสตทัศนศึกษาระดับปริญญาโทว่า ท่านทราบไหมว่าเราใช้โสตทัศน์เพื่ออะไร ท่านทำท่าอึกอักสักพัก ผมเลยพูดไปว่า “เพื่อเพิ่มความน่าสนใจใช่ไหมครับ” ท่านเลยรีบสนับสนุนว่าใช่ และด้วยเหตุนี้ผมเลยไม่กล้าถามอะไรเพิ่มเติม เดี๋ยวท่านจะอึดอัดใจมากกว่านี้
            เมื่อผมพูดถึงประโยชน์ของโสตทัศน์นั้นไม่ได้หมายความว่า หากเรานำโสตทัศน์มาใช้แล้ว จะต้องบรรลุผลตามที่ผมเขียนไว้ ทั้ง 4 ข้อ เพราะหากทำไม่ดีเดี๋ยวจะกลายเป็น

    1.น่าเบื่อ

    2.สับสน

    3.จำอะไรไม่ได้เลย

            ผมขอยกตัวอย่างอันหนึ่ง ครั้งหนึ่งศูนย์พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา (ชื่อในสมัยนั้น)” ได้จัดอบรมการผลิตสไลด์มัลติวิชั่น ขนาด 2 เครื่องฉาย ให้กับศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนที่ จ.นครราชสีมา และได้ขอยืมระบบฉายสไลด์มัลติวิชั่นขนาด 9 เครื่องฉายจากผมไปโชว์ ผมเลยต้องขนทีมงานไปโขยงใหญ่
            ด้วยเหตุใดไม่ทราบผู้ดำเนินงานได้ขอให้ผมช่วยบรรยายด้วย เผอิญผมได้ทำแผ่นใสเกี่ยวกับเรื่องนี้ที่ผลิตใช้ไว้อย่างดี ซึ่งบางแผ่นก็มีโอเวอร์เลย์ (Over Lay) บางแผ่นก็มีแผ่นบัง เพื่อเผยภาพขึ้นมาทีละส่วน ผมเลยได้นำออกมาใช้
            หลังการบรรยาย มีคนสนใจเกี่ยวกับแผ่นใสและถามผมว่าผมใช้บ่อยหรือถึงได้ผลิตอย่างดี ผมก็ตอบไปว่าเพิ่งนำมาใช้เป็นครั้งแรก เขาก็ถามอีกว่าแล้วทำไมต้องทำอย่างดี ผมก็ถามเขากลับว่าแล้วเขาชอบไหม เขาบอกว่าชอบ ผมเลยบอกเขาว่าถ้าทำแผ่นใสอย่างดี ผู้ชมเข้าใจดีและชอบก็ต้องถือว่าคุ้มแล้ว แม้จะมีโอกาสใช้เพียงครั้งเดียว อีกคนหนึ่งรีบมาชมผมว่า เข้าใจดีกว่าตอนที่ไปอบรมกับโกดัก(ประเทศไทย) มากๆ ก็ภาพที่ฉายนั้นเป็นภาพกราฟิกที่ดูง่ายๆ แต่ชัดเจน ซึ่งผมก็ถือว่าประสบความสำเร็จ
            พอช่วงบ่ายวันเดียวกัน หลังพักรับประทานอาหารมื้อเที่ยง ก็มีอาจารย์จากม.สุโขทัยธรรมาธิราช มาสอนเกี่ยวกับการออกแบบแผ่นใสพอดี ท่านนำแผ่นใสมาเพียงแผ่นเดียวที่แบ่งออกเป็น 4 ภาพเล็กๆ แล้วบอกว่าหากบังให้เห็นเฉพาะซีกบนซ้ายจะใช้สอนอะไรได้ และหากฉายเฉพาะซีกบนขวา ซีกล่างซ้ายและซีกล่างขวาก็จะสอนได้อีก 3 อย่าง หากฉายเฉพาะครึ่งบนและครึ่งล่าง จะเป็นอย่างไร หรือจะสลับให้เห็นมุมบนซ้ายกับมุมล่างขวา และมุมบนขวากับมุมล่างซ้าย จะสอนอะไรได้อีก รวมทั้งหากฉายทั้งแผ่นก็จะมีเรื่องให้สอนได้มากจากแผ่นใสเพียงแผ่นเดียว
            หลังจากนั้นท่านก็นำแบบสอบถามมาแจกแล้วขอให้ผู้ฟังการบรรยาย ช่วยกรอกแบบสอบถาม เมื่อได้รับแบบสอบถามคืน ท่านก็บ่นพึมพำว่า ท่านพอจะทราบแล้วว่า ผลจะเป็นอย่างไร
            ตามความเห็นของผม ผมว่าท่านอาจารย์ จากมสธ. ท่านออกแบบแผ่นใสได้อย่างชาญฉลาด (Clever design) จากแผ่นใสแผ่นเดียว สอนได้หลายเรื่อง แต่ท่านพลาดไป 3 เรื่อง

1.ท่านบรรยายตอนบ่าย หลังรับประทานอาหาร ทำให้ผู้ฟังลดความตั้งใจไปมาก

2.ท่านบรรยายหลังจากที่หลายคนได้เห็นแผ่นใสของผม ที่ผลิตอย่างดีมากและเข้าใจง่าย

3.ก็อย่างที่ผมพูด ดูแล้วสับสน ท่านเอามือบังทางโน้นทีทางนี้ที วุ่นวายไปหมด อีกทั้งการใช้มือบังนั้น  สู้การใช้แผ่นพับที่ผมใช้บังบางส่วนแล้วค่อยๆ เผยออกมาทีละช่องแผ่นใส ของท่าน จึงสู้ของของผมไม่ได้และการใช้มือบังดูไม่เป็นมืออาชีพ แผ่นใสของท่านจึงสู้แผ่นใสของผมไม่ได้ ที่ทั้งเรียบร้อยกว่าและดูไม่สับสน

            นี่เป็นการยกตัวอย่างของการใช้โสตทัศน์แล้วดูผู้ชมสับสน ส่วนเรื่องอื่นๆ ผมจะนำมาเขียนในโอกาสต่อไป

 

 

ลงเมื่อวันที่ 10-2-2012


บทความอื่นๆ